Mockingjay

วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

นั่งรถรางแอ่วเมือง เล่าขาน ๙ ตำนาน นครเจียงฮาย


นั่งรถรางแอ่วเมือง เล่าขาน ๙ ตำนาน นครเจียงฮาย

             " การนั่งรถรางแอ่วเมือง เล่าขาน ๙ ตำนาน นครเจียงฮาย "  เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของ จ.เชียงราย  สำหรับใครที่พึ่งเคยเดินทางมาเที่ยวเชียงรายเป็นครั้งแรก  เมื่อมาถึงเชียงรายแล้ว สถานที่ ๆ เราจะต้องมานั่นก็คือ "อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช" ( หรือพญามังรายมหราช )  ซึ่งเป็นกษัตริย์ปฐมล้านนาผู้สร้างเมืองเชียงราย ในปี พ.ศ.1805   โดยด้านหลังจะมีอาคารศูนย์ส่งเสริมสินค้าพื้นเมือง ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ "นั่งรถรางแอ่วเมือง เล่าขาน ๙ ตำนานนครเจียงฮาย"
               สาเหตุที่ผมแนะนำว่าให้มานั่งก็เพราะว่ารถรางจะสามารถพาเราไปยังสถานที่ท่องเที่ยวหลัก ๆ ในเมืองเชียงรายได้ แบบว่า ถ้าไม่ไปเยือนที่ต่าง ๆ ในเส้นทางรถรางแล้วเท่ากับว่าเราไม่มาถึงเชียงรายนะครับ   

                                                                     จุดลงทะเบียนนั่งรถราง

     รถรางเชียงรายเปิดให้บริการทุกวัน โดยแบ่งเป็นรอบเช้าและรอบบ่าย รอบเช้าจะมี 9:00 และ 9:30 ส่วนรอบบ่ายจะมีช่วง 13:00 และ 13:30 ครับ แต่ว่ารอบนั้นจะต้องมีผู้มาใช้บริการอย่างน้อย คน จึงจะให้บริการนักท่องเที่ยวได้ครับ

                                                                  
                 ถ้าอยากจะขึ้นรถราง ให้เรามาถึงอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราชก่อนรถรางให้บริการ 30 นาที เช่นถ้าอยากจะไปรอบเช้าต้องมาถึงที่นี่ 8:30 ซึ่งจะได้รอบ 9:00 ครับ เมื่อมาถึงแล้ว เราก็มาลงทะเบียนที่ศุนย์บริการข้อมูลของอาคารครับ ซึ่งจะมีจุดลงทะเบียนตรงนั้นละครับ ค่าบริการฟรี! ไม่เสียค่าใช้จ่ายครับ ให้เขียนชื่อและจังหวัดที่ตัวเองอยู่ มาเดี่ยวหรือมาหลายคน ก็ใส่ไปตามนั้นครับ และอย่าลืมถามเจ้าหน้าที่ด้วยว่าจะออกรอบไหน แต่ว่า ถ้ารอบนั้นมีคนมาลงทะเบียนต่ำกว่า 5 คนล่ะก็... คงต้องเป็นรอบต่อไปครับ

                หลังจากที่ลงทะเบียนเสร็จแล้ว ก็รับแผนที่ท่องเที่ยวเทศบาลนครเชียงราย และเส้นทาง 9 วัดเทศบาลนครเชียงรายไปศึกษาเส้นทางและแผนที่ของทางจังหวัดครับ จากนั้นก็รอรอบรถออกตามที่เจ้าหน้าที่บอกนะครับ



                      เมื่อถึงเวลาแล้วล้อหมุน!! ก็จะมีเจ้าหน้าที่่และมั้คคุเทศก์มาคอยต้อนรับการเดินทางรถรางแอ่วเมืองเชียงราย และเขาก็เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ของสถานที่ต่าง ๆ ของจังหวัดเชียงรายอย่างละเอียดและครบถ้วน!! ครับ ส่วนสถานที่ ๆ รถจะไปแวะมี 9 จุดดังต่อไปนี้ครับ 


จุดที่ 1 อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช
          ซึ่งอยู่ด้านหน้าที่รถรางจอดอยู่ จุดนี้นักท่องเที่ยวสามารถเดินไปชมได้เองทั้งก่อนรถออกหรือเมื่อรถกลับมาถึง


จุดที่ 2  อาคารเทิดพระเกียรติ  90 ปี  สมเด็จพระศรีนครินทร์ และอนุสาวรีย์รัชกาลที่ ๕
              อาคารหลังนี้เคยใช้เป็นศาลากลางจังหวัด ปัจจุบันภายในจัดทำเป็นหอวัฒนธรรมนิทัศน์เฉลิมพระเกียรติ แสดงนิทรรศการถาวรแบ่งออกเป็น 6 ห้อง มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ที่มีต่อจังหวัดเชียงราย  รวมทั้งการแสดงนิทรรศการชนพื้นเมือง และกลุ่มชาติพันธ์ของจังหวัดเชียงราย

        ด้านหลังอาคารหลังนี้เป็นที่ตั้งของหอประวัติเมืองเชียงราย  750 ปี  แสดงประวัติความเป็นมาของเมืองเชียงรายตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ สมัยสถาปนาเมืองเชียงราย สมัยราชอาณาจักรสยามและเชียงรายปัจจุบัน


จุดที่ 3 วัดพระสิงห์
              วัดพระสิงห์ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ามหาพรหม ราวปีพุทธศักราช 1982 เคยเป็นที่ประดิษฐ์ฐานพระพุทธสิหิงค์ หรือที่เรียกกันว่า พระสิงห์ปัจจุบันเป็นองค์จำลอง (องค์จริงประดิษฐ์ฐานอยู่ ณ วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่) มีพระอุโบสถรูปทรงสถาปัตยกรรมแบบล้านนาสมัยเชียงแสน บานประตูออกแบบโดยอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินล้านนาและศิลปินแห่งชาติผู้มีชื่อเสียงแกะสลักไม้เป็นเรื่อง ดิน น้ำ ลม ไฟ นอกจากนั้นบานประตูยังแกะสลักเป็นรูปสัตว์สี่ชนิด และบ่งบอกความเป็นเพศหญิงเพศชาย

จุดที่ 4 วัดพระแก้ว 
              วัดพระแก้วเป็นวัดเก่าแก่ เดิมชื่อว่า วัดป่าเยียะ เป็นป่าไผ่ชนิดหนึ่ง ในปี พ.ศ. 1977 ฟ้าได้ผ่าองค์พระเจดีย์พังทลายลงจึงพบพระแก้วมรกต (ปัจจุบันประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพฯ) วัดนี้จึงได้ชื่อว่า “วัดพระแก้ว” พระอุโบสถของวัดเป็นพระวิหารทรงเชียงแสน ภายในมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย เรียกว่า พระเจ้าล้านทอง 
               มีหอพระหยก เป็นอาคารทรงล้านนา ภายในประดิษฐานพระหยกเชียงแสน  มีโฮงหลวงแสงแก้ว พิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงพระพุทธรูปสำคัญของวัด ศิลปวัฒนธรรมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และผลของต้นพระเจ้า 5 พระองค์ 

จุดที่ 5 วัดดอยงำเมือง 
                วัด
ดอยงำเมือง ตั้งอยู่บนดอยงำเมือง การขึ้นไปชมวัดจะต้องเดินขึ้นบันไดรวม 74 ขั้น
วัดดอยงำเมืองเป็นวัดเก่าแก่ที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นที่ตั้งของกู่บรรจุพระอัฐิของพญามังรายมหาราช สร้างโดยพญาไชยสงคราม โอรสของพญามังรายมหาราช ในพุทธศตวรรษที่ 19


จุดที่ 6 วัดพระธาตุดอยจอมทอง 
                วัด
พระธาตุดอยจอมทองตั้งอยู่บนดอยจอมทอง รถรางจะพานักท่องเที่ยวขึ้นไปถึงลานพระอุโบสถเลย
เป็นวัดที่มีพระเจดีย์ทาสีทองสวยงาม ที่สร้างขึ้นใหม่ แทนองค์เดิมที่พังทลายลงจากแผ่นดินไหว ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า
       
บริเวณวัดพระธาตุดอยจอมทองมีเสาสะดือเมือง
(หรือเสาหลักเมือง) 108 หลัก ตั้งอยู่บนเนินเขา ในรูปแบบสมมุติฐานของจักรวาล


จุดที่ 7 วัดมิ่งเมือง
                สร้างขึ้นในสมัยพ่อขุนเม็งรายมหาราช เป็นวัดสำคัญของชาวเชียงรายอีกวัดหนึ่ง ปัจจุบันเป็นสถานที่ประกอบพิธีทำบุญตักบาตรเที่ยงคืนในวันพระขึ้น 15 ค่ำ ที่ตรงกับวันพุธ ที่เรียกว่า “พิธีตักบาตรเป็งปุ๊ด” วัดมิ่งเมืองยังมีชื่อเรียกว่า วัดช้างมูบ(วัดช้างหมอบ) มีหลังคาพระอุโบสถเป็นรูปซุ้มโขงประดับด้วยรูปปั้นของช้างทรงเครื่องหมอบอยู่  บริเวณด้านหน้าพระอุโบสถมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่องค์หนึ่ง มีลักษณะแปลกตรงที่ทาสีดำทั้งองค์และมีริ้วสีทองเหมือนห่มจีวรบาง ๆ มีชื่อเรียกว่า “หลวงพ่อองค์ดำ” เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนเคารพนับถือ

จุดที่ 8 หอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติ
        ตั้งอยู่บนถนนบรรพปราการ ออกแบบโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ และก่อสร้างโดยเทศบาลนครเชียงรายในปี พ.ศ. 2549 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมืองเชียงราย หอนาฬิกาแสดงเวลาปัจจุบัน และมีการแสดงแสง สี เสียง ที่ตื่นตาประทับใจให้นักท่องเที่ยวได้ชม จัดแสดงวันละ 3 รอบ ในเวลา 19.00 น., 20.00 น. และ 21.00 น. เสาไฟฟ้าบริเวณหอนาฬิกาทุกต้นได้รับการตกแต่งให้สวยงามเข้ากับตัวหอนาฬิกาด้วย นักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวเชียงรายต้องไม่พลาดชม





จุดที่ 9 สวนตุงและโคมเฉลิมพระเกียรติฯ
          สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมายุ ครบ ๗๕ พรรษา โดยเทศบาลนครเชียงรายได้พัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จัดเป็นสถานที่แสดงนิทรรศการชนเผ่า สถานที่อนุรักษ์ตุงและโคมที่มีเอกลักษณ์ล้านนา นอกจากนี้ยังเป็นสวนสาธารณะ สวนสุขภาพ จัดงานประเพณี และงานดอกไม้งาม และมีการจัดถนนคนเดินทุกวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 17.00 - 24.00 น.



      ใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้น(นั่งรถรางและเดินเข้าไปชมสถานที่ต่าง ๆ) ประมาณ 2 ชั่วโมง รถรางก็พาผู้โดยสาร(ลูกทัวร์) กลับมาถึงจุดเริ่มต้น(ด้านหลังอนุสาวรีย์พ่อขุนฯ) โดยสวัสดิภาพ ด้วยความประทับใจ